yongyuthyang.blogspot.com

วันพุธที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ม้ง กับการให้

ม้ง กับการให้ (ทำบุญ ถวายทรัพย์หรือบริจาค)


หาก พิจารณาดูเรื่องการให้ หรือที่เราเรียกติดปากกันว่า ทำบุญ ถวายทรัพย์ หรือการบริจาค ของสังคมม้ง จะเห็นว่ามีแตกต่างจากสังคมทั่วไปอย่างสิ้นเชิง กล่าวคือ สังคมทั่วไป มีหลักศาสนาและความเชื่อเป็นที่ตั้ง การทำบุญ การถวายทรัพย์หรือการบริจาค เหล่านี้จึงเป็นการแสดงออกมาจากส่วนลึกในจิตใจว่าผู้กระทำเกิดว่าเกิดจาก ศรัทธาอย่างแรงกล้าจึงได้แสดงออกด้วยการให้ บางคนให้จนหมดไม่เหลือไว้ให้แก่ทายาทเลยด้วยซ้ำ และการให้ในรูปแบบนี้เป็นการให้ที่ปราศจากคำถามใดๆ เป็นการให้โดยฝ่ายเดียวของผู้ให้ บางครั้งก็เป็นการให้โดยที่ผู้รับกลับมีเงื่อนไขในการรับ เพราะตามหลักของการให้และการรับแล้วผู้ให้จะมีความสุขยิ่งกว่าผู้รับ
ผมมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับการให้ที่ผมได้พบอยู่เรื่องหนึ่งที่ผมประทับใจมาก ซึ่งขอเล่าโดยย่อ คือว่า


เมื่อ ปีก่อนโน้นภริยาของท่าน ดร.ปีเตอร์ กุลสตารท์เตอร์ (ที่ปรึกษาของสมาคมม้ง) ได้ถึงแก่กรรม ด้วยการที่ท่านอุทิศตนทำงานเพื่อสังคมมาตลอด มีลูกศิษย์ลูกหมามากมาย มีชาวบ้านที่รักใคร่ในตัวท่านมากมาย สมาคมม้งได้มีโอกาสร่วมกับหลายท่านเป็นเจ้าภาพจัดงานระลึกถึงภริยาของท่าน อาจารย์ปีเตอร์ ในงานดังกล่าวมีพี่น้องชาวไทยลื้อจำนวนหนึ่งที่เดินทางมาร่วมงานด้วย จาการพูดคุยกัน มีป้าคนหนึ่งก็เล่าให้ผมฟังว่าทันทีที่ทราบข่าวภริยาอาจารย์ปีเตอร์เสีย ชีวิต ป้าก็ไปที่วัดทำบุญตักบาตร และบริจาคเงินให้กับวัดจำนวนหนึ่งเพื่อเป็นบุญกุศลให้กับภริยาของอาจารย์ปี เตอร์  และวันนี้ก็มาช่วยงานอีก ป้าคนนี้อยู่แม่ฮ่องสอน แต่มาช่วยงานนี้ที่เชียงใหม่ นี่เป็นการให้ของป้าคนนี้ ไม่มีใครรู้หรอกว่าป้าคนนี้ได้ไปทำบุญมาแล้ว และที่วัดเองก็ไม่รู้ว่าป้าแกมาทำบุญให้ใคร ดูแล้วป้าคนนี้มีความสุขมากที่ได้ทำบุญให้กับภริยาของอาจารย์ปีเตอร์
ผมคิดว่านี่เป็นผลึกเกี่ยวกับการให้ของสมาชิกในสังคมหนึ่ง ที่สะสมกันมานานจนเป็นตรรกแห่งการให้ที่ไม่ต้องอาศัยเหตุผลอะไรมากมายมาอธิบายถึงการให้
การให้แบบนี้มีในสังคมม้งเราบ้างใหมครับ?



การ ให้ที่เกี่ยวข้องกับศาสนาไม่ว่าจะเป็นศาสนาไหนก็ตาม บรรดาสมาชิกผู้เลื่อมใสศรัทธาก็จะให้ไปตามที่ตนจะให้ ไม่มีผู้ใดเรียกร้อง หรือเรี่ยไรขอส่วนบุญแต่ประการใด แต่เป็นการให้ด้วยความเชื่อ ตระหนัก และสำนึกในความดีความงามที่ตนมีอยู่และได้รับมาในแต่ละครั้งแต่ละเหตุการณ์ เราทุกคนผู้มีศาสนาในหัวใจย่อมคุ้นเคยอยู่กับการให้ในรูปแบบนี้


การให้เพื่อสังคม หรือเพื่อการช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น ก็ล้วนมีหลักศาสนาเข้ามาเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวทั้งนั้น ผมเคยเห็นการให้ของคนคนหนึ่ง ก่อนที่เขาจะมอบเงินบริจาคของเขาลงในกล่องรับบริจาค เขาจะพนมมือและนิ่งสักครู่ก่อนหยอดเงินจำนวนนั้นลงไป ไม่มีใครรู้ว่าเขาอธิษฐานว่าอะไร บ่นพึมพันด้วยเรื่องอะไร แต่เมื่อเขาหยอดเงินของเขาลงไปแล้วเขาก็ยิ้มอย่างมีความสุข ผมเองก็นำมาใช้กับการให้ของผมด้วยเช่นกัน เมื่อผมจะให้เงินกับใคร ผมก็จะสงบนิ่งและอธิษฐานในใจสักครู่ก่อนให้ ผมก็พบว่าผมมีความสุขจากการให้ของผมเป็นอย่างยิ่ง



ผมอ่านข้อความของ ดร.ทรงวิทย์ เชื่อมสกุล เรื่องเกี่ยวกับคนม้งมีความรักและช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกัน โดยเฉพาะในกลุ่มเครือญาติ ก็ยินดีด้วยอย่างยิ่งที่เห็นว่าชาวม้งนั้นรักกันและกันมาก การให้แบบนี้ก็เป็นการให้ที่มีแต่ความสุขด้วยกันทั้งสองฝ่าย


เคย มีผู้รู้ม้งบางคนพูดไว้ว่า การให้ของม้งที่เราเห็นอยู่นั้นมิใช่การให้ แต่เป็นการให้ยืม เพราะผู้ให้ต้องการคำขอบคุณจากผู้รับ และคาดหวังว่าสักวันหนึ่งผู้รับก็จะให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ให้อย่างน้อยก็ เท่ากับที่ผู้ให้เคยให้กับผู้รับในวันนี้ การให้ของม้งต้องมีผู้รู้เห็นเป็นประจักษ์พยานจึงจะมีค่าควรแก่การจดจำ หากให้กันเองโดยไม่มีผู้รู้เห็นแล้ว วันข้างหน้าจะมาอวดอ้างอะไรไม่ได้ จะไม่มีใครรับรู้ด้วย การให้ที่ไม่ได้รับคำขอบคุณจากผู้รับ(โดยตรง) ก็เป็นการให้ที่ไร้ค่า... แล้วการให้ของม้งนั้น จริงๆ แล้วมีหรือไม่...ซ่อนอยู่ที่ไหน?...ยึดหลักอะไร?...สังคมม้งเราได้สะสมและ เพาะบ่มเรื่องการให้แก่สมาชิกในสังคมม้งไว้อย่างไร?...ยังมีบางคนบอกอีกว่า การที่ม้งไม่ค่อยอยากรับของจากผู้อื่นนั้นก็เพราะม้งกลัวว่าวันข้างหน้าจะ ไม่สามารถตอบแทนคุณได้ทั้งๆ ที่ในใจต้องการเป็นอย่างมาก...วานท่านผู้รู้ช่วยแบ่งปันข้อมูลด้วย


เราๆ ท่านๆ ต่างก็ไปๆ มาๆ ระหว่างหมู่บ้านม้ง เมือง ที่ทำงาน ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ต่างก็พบเห็นสิ่งเหล่านี้ด้วยกันทั้งนั้น ถ้าจะบอกว่าไม่จริง ก็คงเป็นแค่ส่วนหนึ่ง แต่ถ้าจะบอกว่าจริงก็คงเท่ากับไม่ไว้หน้าสังคมม้งเลย.


การให้เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลยจริงๆ...หรือเปล่า...

ยงยุทธ

ไม่มีความคิดเห็น: