yongyuthyang.blogspot.com

วันพุธที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ม้งในอนาคต


เล่าเรื่องการพูดคุยในการพบปะเมื่อเย็นวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2552 เวลา 18.00 – 23.00 น.
โดย ยงยุทธ สืบทายาท


               ผู้เข้าร่วมในการพบปะครั้งนี้ คือ คุณเต็งไตรรัตน์ กิตติยังกุล คุณยุทธพงษ์ สืบศักดิ์วงศ์ คุณทัศพล มองช่อบิดร และยงยุทธ สืบทายาท รวม 4 คน


               รูปแบบการพูดคุยเป็นแบบไม่เป็นทางการ หลังจากที่แนะนำตัวกันเองเสร็จแล้ว คุณเต็ง กิตติยังกุล ได้เปิดประเด็นนำการพูดคุยโดยชวนให้คิดถึงเรื่องความเป็นมาและการเปลี่ยน แปลงครั้งสำคัญๆ ของประวัติศาสตร์โลก ตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ และชี้ให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงแต่ละครั้งล้วนมี “สงคราม” เป็นเครื่องมือ มีการสูญเสีย แต่ได้รับการจดจำในสังคมโลก และมีการรับเอาสิ่งใหม่จากคู่สงครามมาผสมผสานจนเกิดนวัตกรรมในดินแดนของตน เอง โดยเฉพาะบุคลากร ตัวอย่างที่ยกให้เห็นก็คือ การเกิดลูกหลานของสายโลหิตผสมระหว่างเผ่าพันธุ์ (ฝ่ายชนะสงครามได้กวาดต้อนลูกเมียของฝ่ายแพ้สงครามกลับไปยังบ้านเมืองของตน และมีการก่อตั้งครอบครัวที่แตกต่างทางเชื้อสายและเผ่าพันธุ์) นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในแต่ละยุคสมัยจากบุคลากรที่เป็นเชื้อสาย ผสมเหล่านี้ คำถามคือ สิ่งเหล่านี้มีอยู่ในสังคมม้งหรือไม่? เมื่อเกิดสงครามขี้น...ม้งอยู่ที่ไหน.. ม้งมีการพัฒนาตัวเองอย่างไร? ม้งมีอะไรเป็นเครื่องมือในการพัฒนาตนเอง ?



                   หากมองจากประเทศไทย จะเห็นว่าชนเชื้อชาติจีน เป็นชนหนึ่งที่น่าศึกษาว่า ทำไมเดี๋ยวนี้ลูกหลานของเขาจึงประสบแต่ความสำเร็จในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ได้เป็นบุคคลระดับสูงของประเทศไทย ทั้งๆ ที่สังคมไทยก็เคยกีดกั้นอย่างหนักมาก่อน แต่ชนชาวม้งอย่างพวกเรากลับวนเวียนอยู่กับปัญหาเดิมๆ ทั้งนี้เป็นเพราะว่าพวกเราเป็นตรงข้ามกับชนเชื้อชาติจีน เรามัวแต่โทษรัฐบาล โทษคนอื่นว่าเป็นต้นเหตุของปัญหาที่ทำให้เราไม่สามารถพัฒนาตัวเองได้ แต่เราไม่มีสิ่งที่คนจีนมี นั่นคือ การยืนหยัด การต่อสู้ และการสืบทอดของบุคลากรที่มีคุณภาพในอนาคต เพราะถ้าเรามีสิ่งเหล่านี้แล้วก็ไม่มีสิ่งใดจะมาขัดขวางพวกเราได้ แม้แต่รัฐบาล หรือนโยบายของรัฐบาล เพราะในที่สุดแล้วคนที่ประสบความสำเร็จเหล่านี้ก็จะได้เป็นรัฐบาล อย่างที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ มีตัวอย่างที่เทียบเคียงได้ คือ กรณีเด็กชายหม่อง เมื่อพบว่าเด็กชายหม่องเป็นเด็กอัจฉริยะ แต่ไม่มีสัญชาติไทย แถมเป็นลูกแรงงานต่างด้าวอีก รัฐบาลไทยเองก็ไม่สามารถขัดขวางการไปร่วมแข่งขันพับเครื่องบินกระดาษของเด็ก ชายหม่องที่ประเทศญี่ปุ่นได้ (แถมยังจะได้รับสัญชาติไทยอีกด้วย เพราะทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ) เห็นหรือยังว่า ถ้าเราเป็นคนที่มีศักยภาพ ปัญหาทุกอย่างก็จะถูกคลี่คลายไปในทิศทางที่ต้องการ



                   ประเด็นท้าทาย และทิ้งท้ายของ คุณเต็ง ก็คือ อยากให้เราหวนกลับมาคิดถึงบุคลากรที่มีศักยภาพ และมีมุมมองหรือแนวคิดที่ต้องมองตัวเองเป็นหลัก แทนการมองว่าคนอื่นหรือปัจจัยภายนอกเป็นหลัก ซึ่งมีจุดที่น่าสังเกตุอย่างหนึ่งก็คือ บุคลากรที่มีศักยภาพเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นบุคลากรที่มีสายโลหิตมากกว่าสองเชื้อสาย (พ่อเป็นม้ง แต่แม่เป็นชาติพันธุ์อื่น หรือแม่เป็นม้ง แต่พ่อเป็นชาติพันธุ์อื่น) ท่านละ..มีความคิดเห็นอย่างไร?


                    จากการแลกเปลี่ยนกันอย่างต่อเนื่อง ก็เน้นไปที่ประเด็นบุคลากร และวิธีคิดของม้งในมุมมองของแต่ละคน ซึ่งก็มีที่สอดคล้องและแตกต่างกันออกไป พอสรุปเป็นประเด็น คือ


1.     การ แต่งงานข้ามเผ่าชาติพันธุ์ แต่ยังคงความเป็นม้งอยู่ในบรรดาลูกหลานไม่รู้หาย จะทำอย่างไร และจะทำอย่างไรให้ม้งเกิดการยอมรับ ไม่กีดกัน หรือเลือกที่จะให้ลูกหลานของตนเองแต่งงานกับคนม้งด้วยกันเองเท่านั้น ประเด็นนี้มีการขบคิดกันว่า ตามประเพณีแล้ว ม้ง จะห้ามเฉพาะคนแซ่เดียวกันมิให้แต่งงานกัน แต่คนต่างแซ่สามารถแต่งได้ทั้งๆ ที่มีความใกล้เคียงทางสายเลือกมากกว่าคนที่แซ่เดียวกันแต่ห่างกันมากแล้ว ซึ่งหากมองตามหลักวิทยาศาสตร์แล้วมีความเสี่ยงมากกว่าแน่นอน เราเฝ้าระวังแต่ไม่ให้แต่งในแซ่เดียวกันจนละเลยมาตรการส่งเสริมให้ลูกหลานไป ก่อตั้งครอบครัวอย่างคำนึงถึงอนาคตของพวกเขา มัวห่วงแต่ระบบจารีต ห่วงแต่ว่าจะไม่มีใครมาคอยปรนนิบัติคนในครอบครัวตามประเพณีม้ง จึงกลายเป็นเสมือนการกีดกันมิให้ลูกหลานไปก่อตั้งครอบครัวกับชนชาติพันธุ์ อื่น การมีลูกหลานของม้งจึงให้ความสำคัญเพียงแค่แรงงานในครอบครัวเท่านั้น การเปลี่ยนแปลงจึงไม่เกิดขึ้น อันนี้ก็มีผู้ที่ไม่เห็นด้วยเช่นกัน ซึ่งก็คิดว่าเป็นประเด็นที่คนสนใจต้องนำไปขบคิดกันต่อ


2.     ความเป็นอัตตาของม้งนั้นค่อนข้างสูง โดยเฉพาะการไม่ยอมรับความคิดเห็นและบทบาทของคนรุ่นใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบุคลากรที่มีศักยภาพ มีการศึกษาสูง และประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน แต่มิได้อยู่ในชุมชนม้งอย่างต่อเนื่อง คนเหล่านี้จะถูกปฏิเสธจากสังคมม้งเพราะมีความคิดและการปฏิบัติที่ไม่เหมือนกับคนทั่วไปในสังคมม้ง ถูกหาว่าเป็นคนอกตัญญู ไม่เข้าสังคม ไม่ใส่ใจในประเพณีวัฒนธรรมม้ง เป็นต้น แต่กลับไปนิยมยกย่องบุคลากรอื่นที่รู้อยู่ว่ามิใช่ม้ง เช่น กรณีนักกีฬา หรือแม้แต่นักการเมือง คนใดที่มีคนลือว่าเป็นม้ง ก็จะเชื่อและนิยมชมชอบและหลงไปว่าคนเหล่านั้นอาจจะเป็นม้ง แต่กับคนม้งจริงๆ กลับมีความอิจฉาริษยา กรณีที่ยกมาพูดถึงอีกหนึ่ง ก็ คือ ความสามารถในการคิดค้นตัวอักษรแบบของม้งมาใช้โดยชาวม้ง กลับไม่ได้รับความนิยมเมื่อเทียบกับตัวอักษรแบบโรมัน ที่คิดค้นโดยคนต่างเชื้อชาติพันธุ์


3.     มีการแลกเปลี่ยนมุมมองในเรื่องการบริจาคเพื่อสมาคมม้ง ว่า คนม้ง หรือสังคมส่วนใหญ่ไม่รู้จักสมาคมม้งมากพอที่จะบริจาค อีกทั้งที่ผ่านมาสมาคมม้งก็ยังขาดผลงานที่ดีพอ ซึ่งก็ยังมีความเห็นที่หลากหลายปนเปกันอยู่ ความคิดหนึ่ง เน้นว่าสมาคมต้องมีการปรับปรุงให้มากกว่าที่เป็นอยู่ อีกทั้งต้องจัดหากิจกรรมที่สามารถระดมทุนได้ครั้งละมากๆ และที่สำคัญคือ ต้องตอบคำถามต่างๆ ของชาวบ้านให้ได้ว่าสมาคมคือใคร? ทำอะไร? มีประโยชน์อย่างไรกับชาวบ้าน? อีกความคิดหนึ่งก็ว่า สมาคมม้งควรระดมเงินทุนจากชาวม้งที่มี่การศึกษา และประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน เพื่อเชิญชวนให้พวกเขาเหล่านั้นได้เข้ามามีส่วนช่วยเหลือสังคมม้งโดยถือเป็นหน้าที่อย่างหนึ่งที่ทุกคนมีต่อสังคม ถามว่าที่ผ่านมาสมาคมเคยมีการขอบริจาคเงินจากคนม้งด้วยกันหรือไม่ ความจริงแล้วสมาคมม้งเคยขอรับการบริจาคเหมือนกัน แต่ไม่ค่อยได้รับการตอบสนองเท่าไหร่ เมื่อผู้ที่จะให้ไม่มีความสุขในการให้ สมาคมก็ไม่ต้องการให้พวกเขาต้องทุกข์ใจ หรือให้แต่ไม่มีความสุข จึงไม่ค่อยมีการขอบริจาคเท่าไหร่ จะมีก็แต่เฉพาะคนที่ให้โดยหยอดลงในกล่องรับบริจาคโดยไม่ได้แสดงเจตนาอะไรเท่านั้น มีความคิดเห็นในการระดมทุนด้วยการขอรับบริจาคว่าถ้าเป็นมูลนิธิก็จะดีกว่า เพราะภาพของมูลนิธิในเรื่องการขอรับบริจาคนั้นกว้างกว่าสมาคม กรณีนี้คงต้องไปศึกษาเพิ่มเติมให้มากขึ้น


                       อย่างไรก็ตาม การพูดคุยก็ไม่มีการสรุปอะไรที่เป็นรูปธรรม เพราะจำนวนคนที่มาแลกเปลี่ยนกันยังไม่มากพอ และไม่ได้กำหนดประเด็นอะไรไว้เป็นที่ชัดเจน ก็คงฝากไว้เป็นประเด็นไว้ให้ขบคิดกันต่อไป



                       สำหรับผมแล้ว คิดว่าประเด็นที่น่าสนใจคือ การเปิดพื้นที่ให้บุคลากรที่มีศักยภาพโดยเฉพาะกลุ่มที่มีสายเลือดมากกว่าสองชาติพันธุ์ แต่มีสายเลือดของม้งอยู่ด้วย ไม่ว่าจะกี่เปอร์เซ็นต์ก็ตาม หรือกลุ่มคนที่เป็นคนรุ่นใหม่ ซึ่งมีวิธีคิดที่แตกต่างไปจากสังคมม้ง ได้มีพื้นที่ในการใช้ศักยภาพของตนเองเพื่อประโยชน์ต่อสังคมม้ง และสังคมส่วนรวมได้ และนำไปสู่การยอมรับซึ่งกันและกันโดยไม่มีการกีดกันทางชื้อสายชาติพันธุ์ในที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น: